Header of center section
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเทคโนโลยี

การรวบรวมเทคโนโลยีต่างๆ ที่วิจัยและพัฒนาโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือที่เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยปราศจากผู้ที่ มีส่วนร่วม หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลโดยตรง คงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก แต่ในการศึกษาจากผลงานต่างๆ ซึ่งมีการบันทึกเป็นหลักฐาน โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับการเริ่มบันทึก เพื่อนำเผยแพร่ ต่อสาธารณชน ส่วนการดำเนินการต่อไปนั้น คาดว่าจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่ายที่พร้อมใจ จะมาร่วมกันทำงาน เพื่อให้ข้อมูล ที่นำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สิ่งประดิษฐ์ที่จัดได้ว่ามีความสลับซับซ้อน ลึกซึ้ง และสร้างผลกระทบสูงคือ การทำฝนเทียม ที่ทุกคนรู้จักกันดีในนาม "ฝนหลวง" ซึ่งเป็นกรรมวิธีการสร้างฝนจริงๆ โดยอาศัยไอน้ำที่อยู่ในบรรยากาศ คือก้อนเมฆ ซึ่งในหน้าแล้งมักจะลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป โดยไม่กลายเป็นน้ำฝน ที่เกษตรกรเฝ้ารอคอย การสร้างฝนจึงต้องอาศัยความรู้ ทางวิทยาศาสตร์ (เคมี และฟิสิกส์) และแปลงเป็นเทคนิค โดยอาศัยเทคโนโลยีการบิน เป็นเครื่องมือมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ สร้างก้อนเมฆให้โตขึ้น สร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดแรงลม ที่ช่วยลดระดับของก้อนเมฆที่โตขึ้น จนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำฝน ตกลงในพื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จ วิทยาการดังกล่าวนี้ ต้องเกิดจาก กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือการสังเกต บันทึก วิเคราะห์เพื่อสร้างสมมุติฐาน ตั้งทฤษฎี และทำการทดลอง จนเกิดความเข้าใจทั้งหมด จากนั้นจึงนำวิทยาศาสตร์ ที่เป็นความรู้ใหม่ ไปประยุกต์ใช้งานเพื่อพิสูจน์ว่า ทำฝนขึ้นมาได้จริงๆ การพิสูจน์ดังกล่าว ได้เกิดขึ้นต่อหน้ากลุ่มบุคคล ที่สำคัญทั้งในประเทศ และจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกำกับการปฏิบัติการฝนหลวงด้วยพระองค์เอง ดูรายละเอียดที่ ความเป็นมาของวันเทคโนโลยีไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากผลการทรงงานที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หลายด้าน ตัวอย่างเช่น

  • กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อทำหน้าที่เติมออกซิเจนลงไปในน้ำ เพิ่อลดมลภาวะทางน้ำ
  • การออกแบบสายอากาศ (antenna) เพื่อใช้กับวิทยุสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • "ทฤษฎีใหม่" เพื่อบริหารจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกร ให้มีสภาพการใช้งานที่สร้างความยั่งยืนมากกว่าการทำการเกษตร โดยไม่มีการแบ่งส่วนของที่ดิน เพื่อใช้ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำ และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก เป็นต้น ฯลฯ

ในสาขาการเกษตร ทรงทำการศึกษา วิจัย และค้นพบความสามารถของหญ้าแฝกในการยึดเกาะดิน ช่วยป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งหมดสภาพการดูดซับน้ำไว้ในดิน และมีผลทำให้เกิดดินพังทลาย เมื่อมีฝนตกลงในพื้นที่สูงที่ขาดป่า ดังนั้นในหลายพื้นที่ จึงมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยรักษา สภาพของดิน และเป็นจุดเริ่มของการฟื้นฟูสภาพป่าต่างๆ ได้ โครงการหญ้าแฝก จึงเป็นทางออกที่สำคัญในการรักษาผิวดิน

วิทยาการด้านน้ำ นับว่าเป็นสาขาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระอัจฉริยภาพยากที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือน ทั้งนี้เพราะเราสามารถสังเกตได้ว่าพระองค์ท่านเป็น นักวิทยาศาสตร์ต้นน้ำ ที่มีความวิริยะอุตสาหะเป็นที่สุด ไม่ว่าจะพิจารณาจากด้านการแก้ภัยแล้งโดยฝนหลวง หรือการแก้ปัญหาน้ำท่วม อันเนื่องมาจากสาเหตุนานัปการ อาทิ พายุไต้ฝุ่น น้ำป่าไหลหลาก ผ่านพื้นที่ ที่ถูกทำลายสภาพป่า จนหมดสภาพ การดูดซับน้ำ และปัญหาที่มนุษย์สร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มาขวางทางน้ำธรรมชาติ เป็นต้น

ภาพที่ชาวไทยเห็นติดตาอยู่เป็นประจำในตลอดระยะเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมาก็คือ การเสด็จพระราชดำเนินไปยังจุดต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อทรงประกอบ พระราชกรณียกิจช่วยเหลือราษฎรผู้ทุกข์ยาก และเสด็จประพาสยังที่ต่างๆ เพื่อทรง "เก็บข้อมูล" ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต ประวัติปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม วิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ดิน และการเกษตร โดยทรงบันทึก "ข้อมูล" ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ สถานที่ และเวลา ลงบนแผนที่ด้วยพระองค์เอง จนเรียกได้ว่าไม่มีผู้ใด ในประเทศไทยที่รู้จักประเทศไทยได้ดีเท่าพระองค์ท่านใน 5 มิติ กล่าวคือ 3 มิติ ทางด้านตำแหน่งบนพื้นดิน และระดับความสูง บวกกับมิติที่ 4 แห่งกาลเวลา และมิติที่ 5 คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น เช่นน้ำท่วม ฝนแล้ง ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ

ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่มีการบันทึกเป็นดิจิตัล และหาเครื่องคอมพิวเตอร์มาสร้างรูปแบบจำลองเพื่อดูพฤติกรรมของน้ำในกรณีต่างๆ ว่าจะไหลอย่างไร เมื่อมีฝนตกลงมายังตำบลใด แต่บ่อยครั้งที่เราทราบจากข่าวในสื่อมวลชนต่างๆ ว่ามีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำสะอาดไว้ในจุดต่างๆ ของประเทศไทย แทนที่จะปล่อยให้ไหลลงสู่ที่ต่ำ และออกสู่มหาสมุทรภายในเวลาไม่กี่วัน หลังจากฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำ มีผลให้เราสามารถควบคุมทรัพยากรน้ำสะอาดที่มีค่ามหาศาล ต่อการเกษตรไว้ในที่ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงได้เป็นเวลาหลายเดือน และสามารถกำหนดปริมาณการไหลของน้ำลงมายังปลายน้ำได้ ในปริมาณที่เหมาะสม แลกกับพื้นที่ ป่าเหนือเขื่อน ซึ่งเป็นหุบเขา ที่เราต้องแลกกับการมีน้ำใช้ ทำการเกษตรกรรมตลอดปี ในพื้นที่ใต้เขื่อน จนประชาชนในหลายๆ ลุ่มน้ำนึกภาพไม่ออกอีกแล้ว ว่าหากไม่มีเขื่อน แล้วจะมีปรากฏการณ์ น้ำท่วมในหน้าฝน และเกิดการแล้งน้ำอย่างรุนแรง หากฝนไม่ตกเป็นเวลานาน

เขื่อนแต่ละเขื่อนแม้จะมีการลงทุนสูง แต่มีผลทำให้ทุกคนมีน้ำสะอาด คุณภาพสูงไว้ใช้ประโยชน์ในเวลาที่นานขึ้น และการปล่อยให้น้ำไหล เรายังได้ไฟฟ้าออกมาใช้ ประโยชน์อีกด้วย ควบคู่ไปกับการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาต่างๆ ในหุบเขาเหนือเขื่อน

ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกัน เราเคยมีปัญหาน้ำท่วมขังระดับมาราธอน คือ นานกว่า 3 เดือน ใน ปี พ.ศ. 2536 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ปัญหาดังกล่าว ถือว่าเป็นอดีต เพราะได้มีการจัดการเรื่องน้ำตามแนวพระราชดำริในหลายๆ ด้านที่ได้ผล เพราะผ่านการศึกษาวิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์ และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มาเป็นเครื่องมือในการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ "รู้จริง" ในสภาพพื้นที่ของกรุงเทพฯ ว่าเป็นพื้นที่ราบและมีระดับความแตกต่างของพื้นดินระหว่างจุดต่างๆ ค่อนข้างน้อย นับตั้งแต่ทิศเหนือ (รังสิต/ดอนเมือง) ไปยังทิศใต้ (บางแค เพชรเกษม) ดังนั้นหากมีการสร้างถนนหรือถมที่ดินเพื่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ สิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เหล่านี้จะรวมกันสร้างปัญหาให้กับกรุงเทพฯ อย่างรุนแรง กล่าวคือ เกิดน้ำท่วมขังแน่นอน และหากทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่มีผู้ใดทราบจริงว่าน้ำไหลออกจาก บริเวณขนาดใหญ่นี้อย่างไร แม้จะมีเครื่องสูบน้ำจำนวนมากก็จะเป็นการสูบออกนอกเขตตัวเองเพื่อไหลเวียนที่เขตอื่น แล้ววนกลับมาอยู่ที่เดิมอย่างน่าพิศวง เมื่อเหตุการณ์ เป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็นการยากที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุนการคิดว่า จะผันน้ำออกจากกรุงเทพฯ อย่างไร คลองต่างๆ มีทางช่วยระบายน้ำอย่างไร

ในการแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับระดับความสูงต่ำของพื้นที่ในกรุงเทพฯ ซี่งมีความราบเรียบมากมิใช่ของง่าย แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องบางท่านเล่าว่า มีพระราชกระแสรับสั่งให้ คนหลายคน ทำหน้าที่เก็บข้อมูลถวายว่าระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองต่างๆ สูงต่ำแค่ไหน และเมื่อมีเหตุการณ์ฝนตกหนักในกรุงเทพฯ หรือในพื้นที่ทางทิศเหนือของเมือง ซึ่งจะทำให้มีน้ำไหลลงมาสู่กรุงเทพฯ ระดับน้ำจะขึ้นมาอย่างไร ระดับน้ำที่สังเกตนี้เองที่จะกลายเป็นเครื่องวัดระดับความสูง/ต่ำ ของพื้นที่ดินในกรุงเทพฯ ที่แม่นยำ หากนำผลการวัดต่างๆ ไปรวมกันในแผนที่แผ่นเดียวกัน สิ่งที่จะได้ก็คือ แผนที่แสดงระดับชั้นของความสูง (terrain map) นั่นเอง ผู้ใดมีข้อมูลเกี่ยวกับระดับชั้นความสูง ของพื้นดิน ทั่วทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้นั้นจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ และจะสามารถบอกได้ว่าจะระบายน้ำออกจากกรุงเทพฯ กันอย่างไร

จากที่เราได้ทราบถึง พระราชดำริ จากพระราชดำรัส ของพระองค์ท่าน ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีต่างๆ ทำให้เชื่อว่า พระองค์ท่าน ทรงมีพระราชวินิจฉัยจากข้อมูล การสำรวจ ทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และจากการมีพระราชปฎิสัณฐาน กับผู้สูงอายุต่างๆ เพื่อทราบที่มาที่ไป ของน้ำในอดีต รวมถึงความหมายของชื่อตำบลต่างๆ เช่น คลองตัน ที่มีชื่อเช่นนี้ ก็เพราะเป็นคลองที่ ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ (จากพระราชดำรัส 4 ธ.ค. 2543) นอกจากนี้ การทรงเก็บข้อมูล ในแกนเวลาสู่อดีต พร้อมกับการ สังเกตว่า มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ใดๆ หรือการถมคลองเกิดขึ้น ในช่วงเวลาใด และมีผลทำให้ทางน้ำไหลเปลี่ยนเป็นอย่างไร จะช่วยให้บอกได้ว่า ความสามารถในการ ระบายน้ำของกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปอย่างไร

ในโอกาสที่ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน หลายท่านอาจจะนึกถึง ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Information System หรือ GIS ว่าน่าจะเป็นเทคโนโลยี ที่จะมาช่วยสังคมได้ แต่ในโลกแห่งความจริง ส่วนราชการต่างๆ ได้ลงทุนด้าน GIS กันอย่างมาก แต่ยังไม่บรรลุถึงขีดความสามารถ ที่ผู้ใด นอกจากพระองค์ท่าน ที่จะตัดสินได้ว่าทำไมกรุงเทพฯ จึงต้องมีแนวทางระบายน้ำ (floodway) ทำไมเหนือกรุงเทพฯ จึงควรมี "คันกันน้ำท่วม" และเหนือขึ้นไปอีก ควรมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และผลจากพระราชกรณียกิจดังกล่าว ทำให้พสกนิกรในภาคกลาง รอดพ้นจากอุทกภัยที่เกิดจากฝีมือของพวกเราเอง ที่มีการถมคลอง ถมดิน และปลูกสิ่งก่อสร้าง ที่ขวางทางการไหลของน้ำลงสู่อ่าวไทย ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกฝ่ายอาจจะต้องพิจารณา มาร่วมศึกษาเทคโนโลยีด้วยกัน ว่าจะทำอย่างไร บรรดานักวิชาการ ทั้งหลายจะได้มารวบรวมข้อมูลกัน เพื่อสนองพระราชดำริ สร้างองค์ความรู้ และถ่ายทอดพระราชวินิจฉัย ให้ออกมาเป็นระบบ ที่ช่วยให้สามารถบริหารทรัพยากรน้ำ กันอย่างแท้จริง เพื่อฉลองการที่ประเทศไทยมี "วันแห่งเทคโนโลยีไทย" ขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี

นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ได้มีการริเริ่มโครงการ "บริหารทรัพยากรน้ำ ประเทศไทย" (Thailand Integrated Water Resource Management: TIWRM) [tiwrm.hpcc.nectec.or.th] เกิดขึ้นแล้ว และขณะนี้ เริ่มมีการรวบรวมข้อมูล จากหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน และนับตั้งแต่ดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 ได้มีการรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่น ที่เข้ามาในประเทศไทย และที่มีผลต่อประเทศไทย ย้อนหลังไป 50 ปี พร้อมทั้งผลกระทบ คู่กับแผนที่ดิจิตัล ที่อธิบายสภาพ ความเสียหาย สภาพถนน และความสามารถ ในการระบายน้ำบนพื้นดิน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเพื่อใช้เป็นแหล่งความรู้ สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งคาดว่าอีกไม่นาน ประชาชนคนไทย ก็จะได้รับทราบ ถึงเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อันสืบเนื่องมาจาก พระราชดำริขององค์ "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย" ที่ทรงเป็นที่รัก และเทอดทูนยิ่ง ของปวงชนชาวไทย

ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล
ตุลาคม 2544

กลับไปหน้าแรก | ติดต่อผู้จัดทำข้อมูล | ร่วมเทิดพระเกียรติ | เครือข่ายกาญจนาภิเษก


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๒ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗
ห้ามนำข้อมูลของเว็บไซต์นี้ ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

Agriculture Energy Environment Medicine and Public Health Water Management Telecommunication Education Culture Information Technology