วัฒนธรรมสากล

การผูกมิตรไมตรีที่ดีต่อกันระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาวัฒนธรรมสากล เพราะมีความจำเป็นในการศึกษาเปรียบเทียบ
และปรับเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีให้เหมาะสมแก่การยอมรับเชื่อถือของนานาอารยประเทศ นอกจากนั้นการผูกไมตรีที่ดีต่อกันด้วย
การไปมาหาสู่ยังเป็นการเผยแพร่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสร้างสายสัมพันธ์ให้กระชับแน่นด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันสามารถผ่อนคลายปัญหาความ
ไม่เข้าใจ ซึ่งอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ให้กลับเป็นเรื่องเล็ก และกลายเป็นไมตรีที่จะ
ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในที่สุดวิถีแห่งการสร้างไมตรีนี้จึงเป็นหนทาง
ในการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่การพัฒนาวัฒนธรรมสากลอีกด้านหนึ่งอย่างเด่นชัด

ด้วยเหตุนี้ในช่วงระยะเวลา 8 ปี คือระหว่าง พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2510 จึงเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เพื่อปฏิบัติพระราชภารกิจทางต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมสากลโดยการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย สหรัฐอเมริกา ประเทศในทวีปยุโรป และออสเตรเลีย รวมทั้งสิ้น 23 ประเทศ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆนั้น พระองค์ได้ทรงทำหน้าที่แทนประชาชนชาวไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ ทรงศึกษาความก้าวหน้าของวิทยาการโลก และทรงทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมของชาติ พระราชภารกิจนั้นหนักแทบจะไม่ทรงมีเวลาพักผ่อนพระวรกาย เพื่อนำผลประโยชน์และความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศแต่ละครา ล้วนสร้างความประทับใจและเป็นที่กล่าวขานถึงในพระบารมีจนเลื่องลือขจรไกล ด้วยพระราชจริยวัตรอันงดงามสง่าของทั้งสองพระองค์ โดยเฉพาะพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเล่าถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ที่ลอสแอนเจลิส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่วุ่นวาย ดุร้าย มากกว่าหนังสือพิมพ์ในรัฐใดๆ มีความตอนหนึ่งว่า " ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกให้นักหนังสือพิมพ์เฝ้า ข้าพเจ้ายังจำได้ไม่มีวันลืมว่า ข้าพเจ้านั่งนิ่งไม่กระดุกกระดิกอยู่ข้างที่ประทับ มือเย็นเฉียบด้วยความกลัวเครื่องขยายเสียง เครื่องอัดเสียงเต็มไปหมด ไฟฉายตั้งส่องมาสว่างจ้าจนตาพร่า ทั้งมีแสงว้อบแว้บๆ อยู่ไม่ขาดระยะ ผู้คนช่างมากันมากมายเหลือเกิน นัยน์ตาทุกคู่จ้องเป๋งมาที่เราทั้งสอง เขาทั้งถ่ายรูป ถ่ายหนัง ถ่ายโทรทัศน์ ทั้งถวายสัมภาษณ์พร้อมกันไปหมด ข้าพเจ้าได้แต่นั่งภาวนาขออย่าให้ใครมายุ่งกับตัวข้าพเจ้าเลย ซึ่งก็นับว่าโชคดีพอใช้ เขาไม่ค่อยยุ่งด้วยเท่าไรนักดอก นอกจากฉายไฟส่องหน้าและถ่ายรูป ถ่ายหนัง แล้วเขาต่างก็เข้าไปรุมซักไซร้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการใหญ่ พอทรงตอบคนนั้นเสร็จ คนนี้ก็ถาม พอคนนี้เสร็จคนโน้นก็เริ่มถามอีกวนเวียนกันไปเรื่อยๆ เป็นเวลาตั้ง 40 นาทีเต็มๆ ที่ท่านถูกนักหนังสือพิมพ์อเมริกันรุม ดูๆแล้วก็คล้ายกับการซักซ้อมจำเลยมากกว่าการถวายสัมภาษณ์ ในที่สุดการเสด็จออกให้นักหนังสือพิมพ์เข้าเฝ้าเป็นครั้งแรกในชีวิตของเราทั้งสองก็สิ้นสุดลง ข้าพเจ้าแอบถอนใจยาวด้วยความโล่งอก เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อเมริกันซึ่งมาประจำเราอยู่ เข้ามาทูลถามพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวว่าทรงรู้สึกเป็นอย่างไรบ้างทรงหนักพระทัยไหม รับสั่งตอบว่า ตอนแรกๆ ก็เป็นบ้าง เพราะยังไม่เคยมาก่อนเลย เขากลับชมเปาะว่าทรงเก่งมากสำหรับเป็นครั้งแรก ภาษาที่ทรงใช้ก็ไม่ใช่ภาษาของท่านเอง เขาไม่เห็นทรงมีท่าทางสะทกสะท้านเลยแม้แต่น้อย เขาเคยติดตามคนสำคัญของประเทศต่างๆมาหลายรายแล้ว โดยทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หลายครั้งที่เขาได้เห็นคนสำคัญออกให้นักหนังสือพิมพ์สัมภาษณ์แบบนี้ บางคนเหงื่อแตกท่วมตัว บางคนก็ติดอ่างจนพูดจาไม่รู้เรื่อง เสียบุคลิกลักษณะหมด ครั้นออกมาในโทรทัศน์แทนที่คนดูจะเห็นใจกลับหัวเราะเยาะหาว่า ไม่ได้ความเสียอีกก็มี…"
การพระราชทานสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการครั้งนั้นมีเนื้อความโดยสังเขปว่า การที่เสด็จฯมาพบนักหนังสือพิมพ์ครั้งนี้เป็นการพบปะระหว่าง
เพื่อนฝูง เพราะต้องทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างมวลชนของโลก พระองค์เสด็จฯมาเพื่อนำมิตรภาพ
และสันถวไมตรีของชาวไทยมาให้กับชาวอเมริกันและประชาชนแห่งสหรัฐก็ได้แสดงมิตรภาพและความปรารถนาดีให้พระองค์นำสันถวไมตรีของชาว
อเมริกันกลับไปเช่นกัน
กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานในงานพิธีต่างๆนั้น แสดงถึงความมีพระราชอัจฉริยภาพอย่างสูง กระแสพระราชดำรัสมีเนื้อหาสาระที่เข้ากับเหตุการณ์ โน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้มีความคิดความรู้สึกสอดคล้องไปตามกระแสพระราชดำรัส ดังจะเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สภานิติบัญญัติของรัฐฮาวาย มีความตอนหนึ่งว่า " ฮาวายอาจเป็นรัฐที่เยาว์วัยที่สุดของสหรัฐฯ แต่ความเจริญก้าวหน้าอันน่าชื่นชมของมลรัฐนี้ ได้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ฮาวายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญยิ่งตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเชื่อมประชาชนของสหรัฐฯกับประชาชนประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มรดกทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ซึ่งส่วนมากมีกำเนิดในเอเชีย สามารถช่วยให้เกิดความเข้าใจดีและส่งเสริมมิตรภาพให้มีตลอดไประหว่างชาติของเรา ท่านสามารถจะทำหน้าที่เป็นผู้อธิบายขนบธรรมเนียมและสถาบันของเราในทุกขณะที่อาจจะมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจได้ง่าย…"
ความอีกตอนหนึ่งของกระแสพระราชดำรัสที่จับอกจับใจผู้ได้ยินได้ฟังโดยเฉพาะคนอเมริกันทำให้เกิดมโนคติโน้มน้าวจิตใจให้เกิดความคิดเห็นสอดคล้อง
ไปกับกระแสพระราชดำรัสว่า
" ในส่วนตัวของข้าพเจ้าเองแล้ว การมาครั้งนี้นับว่าเป็นความสำคัญมากอยู่ ข้าพเจ้าเกิดในประเทศนี้เอง ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นเมืองมารดาของข้าพเจ้า การมาเยือนคราวนี้ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก
รู้สึกดีใจเหมือนได้เดินทางกลับบ้าน…"

สรุปโดยรวมใจความในกระแสพระราชดำรัสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ทรงมีความปรารถนาอยู่ 3 ประการ คือ

1. เพื่อทอดพระเนตร ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน
2. เพื่อทรงนำมิตรภาพและความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยมาพระราชทานแก่ประชาชนชาวอเมริกันด้วยพระองค์เอง
3. มีพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานที่เสด็จพระราชสมภพ เพื่อความภาคภูมิใจในความเจริญของประเทศตน

พร้อมกันนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาที่ผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นตั้งแต่พุทธศักราช 2402 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา และตรัสชมสหรัฐอเมริกาที่ให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียให้รักษาอิสรภาพ และช่วยเหลือประเทศไทยด้วย ทรงหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าประเทศไทยจะพึ่งตนเองได้
นอกจากพระอัจฉริยภาพที่ทรงแสดงให้ปรากฏในกระแสพระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาแล้ว พระราชดำรัสตอบขอบใจนักเรียนไทยในรัฐวิคตอเรีย คราเสด็จฯ เยือนประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เมื่อนักเรียนไทยทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตุ๊กตาหมีออสเตรเลีย และบูมเมอแรงอาวุธของชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย ก็มีความหมายลึกซึ้ง ด้วยมีพระบรมราโชวาทให้นักเรียนไทยจงเป็นอย่างบูมเมอแรง หมายความว่า เมื่อเรียนจบแล้วก็ให้กลับไปใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ
นอกจากนั้นกระแสพระราชดำรัสตอบขอบพระทัยกษัตริย์แห่งสหพันธรัฐมลายู ยิ่งมีความไพเราะจับใจ แสดงถึงอัจฉริยภาพอันสูงยิ่ง ดังมีความตอนหนึ่งว่า
" ประเทศของเราทั้งสองได้สร้างสัมพันธภาพฉันท์มิตรมาเป็นเวลานาน นอกจากจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและใกล้ชิดกันแล้ว ยังจะยึดถือในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของชาติเหมือนกันหลายประการ… เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งเกิดแก่ประเทศหนึ่งย่อมมีผลต่ออีกประเทศหนึ่งด้วย ประเทศของเราทั้งสองต่างภูมิใจในการที่มีวัฒนธรรมและธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง และในขณะที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกาลสมัย เราควรสามารถสงวนรักษาธาตุแท้ที่สำคัญของเราไว้ได้ โดยการนี้ประชาชนของเราทั้งสองจึงมีความรู้สึกว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน ซึ่งเป็นที่ก่อให้เกิดความรู้สึกกลมเกลียวต่อกันและเข้าใจกัน…"
กระแสพระราชดำรัสเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนน้อยที่ได้ยกมาให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันเยี่ยมยอดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ล้วนเป็นกระแสพระราชดำรัสที่ลึกซึ้ง สุขุมคัมภีรภาพที่สามารถเรียกร้องความเป็นมิตร ความเป็นสายเลือด ความเป็นแผ่นดินแห่งบรรพบุรษเดียวกัน ความทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนไมตรีจิตที่สามารถกระชับสัมพันธไมตรีกับมิตรประเทศ ส่งผลให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันฉันท์มิตร และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
การดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการเผยแพร่และพัฒนาวัฒนธรรมสากล โดยการยอมรับเพื่อศึกษาและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกาลสมัยและวัฒนธรรม ทั้งนี้ บทบาทของกล้องถ่ายภาพที่ปรากฎเป็นผลงานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ตลอดระยะเวลาของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศด้วย เป็นหลักฐานข้อมูลอันดีต่อการศึกษาไตร่ตรอง และกำหนดบทบาทอันควรแก่การพัฒนา เพื่อให้วัฒนธรรมของชาติเป็นวัฒนธรรมแห่งการยอมรับในระดับสากล
หลัง พ.ศ.2510 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมมิตรประเทศต่าง ๆ แล้ว พระองค์ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศอีกเลย ทั้งนี้เพราะทรงมีพระราชภารกิจอันใหญ่หลวงเกี่ยวกับปัญหาความอดอยากยากจนเพื่อปากท้องของประชาชนที่อยู่ในชนบท พระองค์ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย พระสติปัญญา และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงช่วยให้ราษฎรของพระองค์พ้นจากความอดอยากหิวโหย มีพอกินพอใช้พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและเลี้ยงครอบครัวให้มีความสุขตามอัตภาพ เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ทรงปรารถนาที่จะให้ราษฎรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกถ้วนหน้า พระองค์จึงทรงตรากตรำพระวรกาย ทรงเหนื่อยยากเพื่อชุบชีวิตราษฎรที่เป็นเกษตรให้ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสว่า "ตราบใดที่ราษฎรของพระองค์ยังอดอยากยากจนอยู่ พระองค์จะไม่เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ"
อย่างไรก็ตามในกรณีที่ประมุขของต่างประเทศมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาล หรือราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่ทรงละเว้นที่จะทรงให้การต้อนรับด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยมิตรไมตรีกับทุกประเทศที่มาเยือนประเทศไทย ซึ่งนานาประเทศต่างเข้าใจในพระราชเจตนาและพระราชภารกิจที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ ด้วยทรงเห็นความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีที่ยังประโยชน์แก่การพัฒนาวัฒนธรรมสากล และเอื้อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาความเจริญของชาติตลอดมา